.

.

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่องที่ 26 กระบอกไม้ไผ่




กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ วัดแห่งหนึ่งมีหลวงตาอยู่รูปหนึ่งและสามเณรอีกห้ารูป วันหนึ่งสามเณรเหล่านั้นได้ทำแจกันตกแตก แต่ไม่มีใครกล้ายอมรับผิด ต่างคนต่างก็กล่าวตู่อีกคนหนึ่งว่าเป็นคนผิด เป็นคนทำแจกันตกแตก

เสียงดังเจี๊ยวจ๊าวไปไกลจนถึงกุฏิหลวงตา หลวงตาจึงเรียกสามเณรทุกรูปเข้าไปพบ
......เมื่อสามเณรมาครบทุกรูปแล้ว หลวงตาจึงก้มลงไปหยิบกระบอกไม้ไผ่มาลำหนึ่ง ความยาวขนาดหนึ่งวา ยื่นให้สามเณรเหล่านั้น พร้อมกับพูดว่า " ให้พวกเจ้ายื่นมือลงไปแตะก้นกระบอกไม้ไผ่ ใครแตะได้หลวงตาจะไม่ทำโทษ "

สามเณรน้อยต่างองค์ต่างพยายามทำมือให้ยาวที่สุด เพื่อที่จะล้วงลงไปให้ถึงก้นกระบอกไม้ไผ่ แต่พยายามอย่างไรก็แตะไม่ถึงก้นกระบอกซักที

จากนั้น หลวงตาจึงถามเณรน้อยว่า " ทำไมจึงแตะก้นกระบอกไม้ไผ่ไม่ถึง"


......เณรน้อยองค์ที่หนึ่งรีบตอบทันทีว่า " กระบอกไม้ไผ่ยาวเกินไปครับ"


......องค์ที่สอง สาม สี่ ห้า ต่างก็ตอบเหมือนเพื่อนว่า " กระบอกไม้ไผ่ยาวเกินไปครับ"


จากนั้นหลวงพ่อจึงพูดขึ้นว่า "ไม่แปลกใจเลยทำไมไม่มีใครรับผิดเรื่องแจกันแตก "
เณรน้อยทุกรูปทำท่างงงวย แตะก้นกระบอกไม้ไผ่ไเกี่ยวอะไรกับแจกันแตก
ต่อมาหลวงพ่อจึงอธิบายว่า จริงๆแล้ว เหตุการณ์แตะก้นกระบอกไม้ไผ่ไม่ถึง มองได้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1กระบอกไม้ไผ่ยาวเกินไป แบบที่ 2 แขนของเราสั้นเกินไป


........ แต่ไม่มีใครตอบแบบที่ 2 เลย 


เป็นอย่างนี้แหละคนเรา เวลาเกิดเหตุการณ์ขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ลงรอยกัน คนเรามักจะโทษคนอื่นหรือ สิ่งอื่นก่อนเสมอ ว่าคนอื่น สิ่งอื่นผิด ตนถูก หายากมากคนที่จะมองตนเองก่อนที่จะมองผู้อื่น ยิ่งกล้ารับผิดแล้วยิ่งยากมาก พูดเพียงเท่านี้หลวงตาก็เดินจากไป